หน้าเว็บ

วันพุธที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556


สูตรสมุนไพรกำจัดศัตรูพืช “ศูนย์ฯ วังผาง”

          “สมุนไพรไทย” เป็นพืชที่มีประโยชน์มากมายนานับประการ ในสมัยโบราณคนไทยรู้จักและนำสมุนไพรมาใช้ประโยชน์เป็นยา ช่วยป้องกันและรักษาโรคต่าง ๆ  นอกจาก ยา แล้ว สมุนไพรยังเป็นอาหารเสริมและบำรุงสุขภาพและยังนำมาใช้ประโยชน์ทางด้านอื่นๆได้อีกมากมาย สมุนไพรหลายชนิดได้ถูกนำมาทำเป็นอาหารเพื่อสุขภาพสุดแสนอร่อยที่อยู่คู่สำรับคนไทยมาทุกมื้อ เช่น น้ำพริกต่างๆ ยำสมุนไพร ต้มข่า ต้มยำ แกงเลียง อาหารเหล่านี้อุดมและมีรสชาติของสมุนไพรไทยที่เข้มข้น กลมกล่อม ที่เป็นที่ชื่นชอบของทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ แต่สมาชิกของเครือข่ายการเรียนรู้ศูนย์ฯ ตำบลวังผาง อำเภอเวียงหนองล่อง จังหวัดลำพูน กลับมองเห็นอีกหนึ่งคุณค่าของสมุนไพรที่มาจากภูมิปัญญาคือการทำ “สมุนไพรไล่และกำจัดศัตรูพืช”

 

          จากแนวคิดที่ต้องการลดการใช้สารเคมีที่ใช้ในการทำเกษตรของคนในชุมชน ทำให้เกษตรกรตำบลวังผาง เริ่มศึกษาและเสาะแสวงหาวิธีการไล่และกำจัดศัตรูพืชด้วยในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อลดการใช้สารเคมีให้น้อยที่สุดหรือไม่ใช้เลยตามสภาพของพื้นที่ โดยเน้นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชน นำไปสู่การทดลองทำสมุนไพรกำจัดศัตรูพืชอย่างจริงจัง
          พี่มนู น้อยมณีวรรณ์ (ประธานศูนย์ฯ) เล่าว่า การทำสมุนไพรไล่และกำจัดศัตรูพืชไม่ใช่เรื่องแปลกหรือของใหม่ คนสมัยก่อนนั้นเขาทำกันมาตั้งนานแล้ว เพียงแต่ว่าจะจำกัดอยู่เฉพาะกลุ่มที่สนใจกันจริง ๆ เท่านั้น การใช้สมุนไพรนั้นให้ผลไม่รวดเร็วเหมือนการใช้สารเคมีในปัจจุบันนี้ ที่สารเคมีได้รับความนิยมทั้งที่มีราคาแพงก็เป็นเพราะคนเราชอบความสะดวก รวดเร็ว (หรืออาจจะเรียกว่าความง่ายก็ได้) จึงหาซื้อสารเคมีมาใช้กันมากจนน่าตกใจ แต่ในความเป็นจริงการใช้สมุนไพรมีข้อดีใช้กำจัดศัตรูพืชได้และให้ผลดีในระยะยาวปลอดภัยทั้งผู้ใช้และผู้บริโภค



          นายกเทศมนตรีฯ สืบศักดิ์ สุภิมาส (นายก ทต.วังผาง อ.เวียงหนองล่อง จ.ลำพูน) กล่าวเสริมว่า เทศบาลตำบลวังผางเอง ได้ส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรในเรื่องของความรู้ การเพิ่มพูนประสบการณ์ และเงินทุน ในการดำเนินงานเกี่ยวกับการเกษตรพอเพียง เกษตรปลอดภัย และเกษตรอินทรีย์ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย คือ การเป็นชุมชน “เกษตรอินทรีย์เพื่อชีวิต บนพื้นฐานเศรษฐกิจพอเพียง”

          เวลาที่ทีมงานของ OKRD ที่นั่งคุยกับเพื่อน ๆ สมาชิกศูนย์ฯ รวบรวมความรู้และภูมิปัญญาของเกษตรกรชาววังผางผ่านไปอย่างรวดเร็วเพลิดเพลิน  เมื่อพี่มนู และเพื่อน ๆ ได้ถ่ายทอดเทคนิคและขั้นตอนการทำสมุนไพรไล่และกำจัดศัตรูพืชของที่นี่ ว่า....
          “การทำสมุนไพรไล่และกำจัดศัตรูพืชของพวกเราจะเน้นการนำสมุนไพร 13 ชนิด ที่สามารถไล่และกำจัดศัตรูพืชได้ครอบคลุมทั้งหมด ทั้ง กำจัดแมลงวันทอง มด แมลงวัน ยุง เพลี้ยกระโดด เพลี้ยจักจั่น เพลี้ยหอย เพลี้ยอ่อน เพลี้ยไฟ แมลงหวี่ขาว แมลงวันผลไม้ หนอนใยผัก หนอนผีเสื้อกะโหลก ด้วงปีกแข็ง ไส้เดือนฝอย เป็นต้น ฯลฯ  สมุนไพรเหล่านั้น ได้แก่

 

          1.  ใบกระเพรา         กำจัดมด แมลงวัน และยุง    
          2.  ขิง                     กำจัดแมลงวันทอง มด แมลงวัน และยุง     
          3.  ขมิ้น                  กำจัดแมลงวันทอง
          4.  ข่า                     กำจัดมด แมลงวัน และยุง    
          5.  ใบสะเดา             ขับไล่แมลง
          6.  ต้นบัวบก            กำจัดแมลงทั่วไป
          7.  ฝักดอกคูน                    กำจัดหนอน และด้วง
          8.  ดอกดาวเรือง      กำจัดเพลี้ยกระโดด เพลี้ยจักจั่น เพลี้ยหอย เพลี้ยอ่อน เพลี้ยไฟ แมลงหวี่ขาว แมลงวันผลไม้ หนอนใยผัก หนอนผีเสื้อกะโหลก หนอนกะหล่ำปลี ด้วงปีกแข็ง และไส้เดือนฝอย
          9.  เถาบอระเพ็ด       กำจัดเพลี้ยกระโดดน้ำตาล เพลี้ยจักจั่น โรคยอดเหี่ยว โรคข้าวลีบ
          10. ไพล                   กำจัดเชื้อรา
          11. ใบมะรุม              กำจัดเชื้อรา แบคทีเรีย และโรคเน่า
          12. ว่านน้ำ               กำจัดด้วงหมัดผัก หนอนกระทู้ผัก แมลงวันทอง แมลงในโรงเก็บ ด้วงงวงช้าง ด้วงเจาะเมล็ดถั่ว มอดตัวป้อม และมอดข้างเปลือก
          13.ต้นและใบสาบเสือ           กำจัดเพลี้ยกระโดด เพลี้ยจักจั่น เพลี้ยหอย เพลี้ยไฟ หนอนกระทู้ หนอนใยผัก

          เมื่อเตรียมสมุนไพร จำนวน 13 ชนิด (ตามสูตรของศูนย์ฯ วังผาง) เรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปของการทำสมุนไพรไล่และกำจัดศัตรูพืชมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้
          1.  นำสมุนไพรไปสับ/ทุบ ให้ละเอียด (รวมประมาณ 10 กิโลกรัม) แล้วนำไปใส่ในถังหมัก
          2. เติมน้ำตาล 3 กิโลกรัม / น้ำเปล่า 25 ลิตร / ยีสต์ทำขนมปัง 3 ช้อนชา / น้ำส้มควันไม้ 1 ลิตร ผสมคลุกเคลาให้เข้ากัน แล้วนำไปใส่ลงในถังที่จะใช้บรรจุสมุนไพร
          3.  ปิดฝาเพื่อทำการหมัก (ไม่ต้องปิดให้สนิท เพื่อให้มีอากาศถ่ายเทได้บ้าง)
          4.  หมักไว้ประมาณ 20 – 25 วัน ก็สามารถนำไปใช้ได้

 

          เมื่อต้องการนำไปใช้จะต้องกรองเอาเฉพาะส่วนที่เป็นน้ำ (เข้มข้น) นำมาผสมน้ำเปล่าให้เจือจางอีกครั้งหนึ่งในอัตราส่วน 1:25-30คือ น้ำหมักสมุนไพรไล่และกำจัดศัตรูพืช 1 ส่วน ต่อน้ำเปล่า 25 – 30 ส่วน แต่สัดส่วนการใช้กับพืชผักและผลไม้ชนิดต่าง ๆ นั้นให้ใช้ตามความเหมาะสมของพืชแต่ละชนิดและต้องอาศัยประสบการณ์ ซึ่งจะต้องลองใช้และค้นหาสังเกตด้วยความระมัดระวัง เพื่อให้ได้ความปลอดภัยและประสิทธิภาพสูงสุดของการใช้
  

เครดิต  http://www.moralcenter.or.th/msnwangphang/about/3060/